วันเสาร์ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2558

หน่วยงานช่วยเหลือน้องหมาในต่างประเทศเขาทำงานกันอย่างไร ?

หน่วยงานช่วยเหลือน้องหมาในต่างประเทศเขาทำงานกันอย่างไร ?
        การช่วยเหลือน้องหมาและสัตว์ไร้บ้านในทวีปอเมริกาเหนือ อย่าง สหรัฐอเมริกา แคนาดา รวมไปถึงอเมริกากลางอย่างประเทศแม็กซิโก หากเช็คข้อมูลทางออนไลน์จะพบว่ามีฐานข้อมูลเกี่ยวกับศูนย์พักพิงสัตว์และตัวแทนหาบ้านให้น้องหมามากกว่า 13,000 แห่ง ซึ่งในประเทศสหรัฐอเมริกานั้นจะมีหน่วยงานที่ทำงานช่วยเหลือน้องหมาออกเป็นกลุ่มๆ ที่หลากหลาย โดยแบ่งเป็น 2 หน่วยงานใหญ่ๆ คือ หน่วยงานช่วยเหลือกู้ภัยสัตว์ และ ศูนย์พักพิงสัตว์ คล้ายๆ กับเมืองไทยค่ะ เพียงแต่ของต่างประเทศจะทำกันอย่างเป็นระบบ มีเครือข่าย การสนับสนุนช่วยเหลือกันอย่างชัดเจน
       โดยที่หน่วยงานช่วยเหลือกู้ภัยสัตว์จะเป็นกลุ่มอาสาสมัคร อาศัยบ้านของอาสาสมัครเป็นฐานปฏิบัติการที่คอยดูแล ช่วยเหลือให้ที่พักน้องหมาจนกว่าจะได้บ้าน  เงินกองทุนได้มาจากการบริจาคในขณะที่ศูนย์พักพิงสัตว์มักจะเป็นหน่วนงานที่มีเจ้าหน้าที่ประจำ ทำหน้าที่รองรับน้องหมาไร้บ้านไม่ให้เร่ร่อน เกะกะ อยู่ตามท้องถนน และรอหาบ้านใหม่ให้พวกเขา
         ปกติแล้วทางศูนย์พักพิงสัตว์จะทำงานประสานกับหน่วยงานช่วยเหลือกู้ภัย เนื่องจากทางศูนย์พักพิงสัตว์มีน้องหมาและสัตว์อื่นๆ อาศัยอยู่หนาแน่น มีความยุ่งยากเกี่ยวกับการจัดพื้นที่ จึงให้ทางหน่วยงานอาสาสมัครคอยรับหน้าไว้ก่อน ...เพื่อหลีกเลี่ยงการทำการุณยฆาตเพื่อลดประชากรน้องหมาจรจัดหรือสัตว์อื่นๆ ในศูนย์พักพิงสัตว์ 
         นอกจากนี้ การช่วยเหลือน้องหมายังมีการแบ่งเป็นการช่วยเหลือเฉพาะสายพันธุ์อีกด้วยค่ะ อย่างเช่น กลุ่มช่วยเหลือลาบราดอร์ กลุ่มช่วยเหลือน้องหมาล่าสัตว์ (hunting dog rescue groups), อีกทั้งยังมีการแบ่งหน้าที่ช่วยเหลือสัตว์เป็นโซนพื้นที่อีกด้วยค่ะ 
         แต่ถึงจะมีศูนย์พักพิง หรือหน่วยงานช่วยเหลือหาบ้านให้น้องหมามากขนาดไหนก็ไม่เพียงพอกับน้องหมาจรจัดที่ถูกทอดทิ้งทุกวี่วันทางศูนย์พักพิงสัตว์จึงจำเป็นต้องทำการุณยฆาตน้องหมาที่ป่วย แก่ พิการ รวมๆ แล้วประมาณ 3-4 ล้านตัวต่อปีในสหรัฐอเมริกา  อย่างไรก็ตาม น้องหมายังมีโชคดีที่มีองค์กรและหน่วยงานเอกชนที่ได้มีการจัดศูนย์พักพิงสัตว์ ( no-kill shelter) ที่มีนโยบายไม่ทำการุณยฆาตน้องหมาที่สุขภาพดี หรือมีคุณค่ามีความสามารถ (แต่ถ้าน้องหมาป่วย แก่ พิการ ก็ต้องพิจารณาอีกทีอยู่ดีค่ะ น่าสงสารจัง)
          ในส่วนของประเทศอื่นๆ อย่างอังกฤษจะมีลักษณะการดำเนินงานใกล้เคียงกับสหรัฐอเมริกาค่ะแต่เนื่องด้วยประเทศเล็กกว่า การจัดการน้องหมาเร่ร่อนจึงเข้มงวด เร่งรัด โดยน้องหมาที่ถูกจับมาอยู่ในศูนย์พักพิงสัตว์จะถูกกักตัวไว้ 7 วันเพื่อดูว่ามีอาการของโรคพิษสุนัขบ้าหรือไม่ จากนั้นจึงค่อยรอหาบ้านใหม่ หากสถานที่ไม่พอ ไม่มีใครมารับไป ก็จำต้องทำการการุณยฆาตค่ะ ... เศร้าอีกแล้ว  

ที่มา : http://www.dogilike.com/content/tip/2885/






ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น