วันเสาร์ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2558

การถ่ายภาพสารคดี

การถ่ายภาพสารคดี (FOTOINFO)

          การถ่ายภาพแนวสารคดี หมายความรอบคลุมถึงการถ่ายภาพในทุกประเภททุกแนว ไม่ว่าจะเป็นมาโคร วิวทิวทัศน์ นก สัตว์ป่า พอร์เทรต วิถีชีวิต สตรีท กีฬา อาหาร การแสดง สตีลไลฟ์ สงคราม ท่องเที่ยว ฯลฯ รวมไปถึงการถ่ายภาพทางอากาศ และภาพใต้น้ำ หรือแม้แต่การถ่ายภาพจากอวกาศด้วยดาวเทียมการถ่ายภาพดวงดาวจากกล้องโทรทัศน์

          ด้วยเพราะเนื้อหาของสารคดีเรื่องหนึ่งๆ มันเป็นได้ตั้งแต่ไม้จิ้มฟันยันเรือรบเป็นได้ทั้งสิ่งมีชีวิต และสิ่งไม่มีชีวิต เป็นสถานที่ เป็นเหตุการณ์บางอย่างเป็นภัยธรรมชาติ เป็นเรื่องการเมือง เป็นเรื่องศาสนาเป็นเรื่องส่วนบุคคล เป็นชีวิตสัตว์ เป็นเรื่องเกี่ยวกับประเพณีวัฒนธรรม เป็นการละเล่นพื้นเมือง เป็นกีฬาสากล เป็นงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ฯลฯ ขึ้นกับว่านักเขียนจะคิดเรื่องคิดประเด็นอะไรขึ้นมาได้

จัดหรือไม่จัด ?

          ทั้งนี้ มีคำถามยอดนิยมอยู่เรื่องหนึ่งสำหรับการถ่ายภาพในเชิงสารคดี ก็คือคำถามในทำนองว่าช่างภาพสามารถ "จัด" ได้หรือไม่ เนื่องด้วยสารคดี นั้นมีเนื้อหาจาก "ความเป็นจริง" การจัดถ่ายในรูปแบบต่าง ๆ จะทำให้ภาพ "ผิดความเป็นจริง" ไปหรือไม่ ?

          เรื่องนี้สามารถตอบให้ชัดเจนได้เลยว่า ช่างภาพสามารถ "จัด" ได้ ถ้า...การจัดนั้นไม่ทำให้เนื้อหาหรือความเป็นจริงบิดเบือนไปโดยเฉพาะเมื่อเรื่องและภาพเหล่านั้นนั้นกำลังพูดถึงประเด็นที่ละเอียดอ่อนทางสังคม การเมือง เชื้อชาติ ศาสนาเรื่องทำนองนี้ยิ่งต้องระวังให้มากเป็นพิเศษ รักษาความเป็นกลางในการนำเสนอให้ได้โดยไม่นำเอาอารมณ์ ความรู้สึก หรือความคิดเห็นส่วนตัวสอดแทรกลงไป เพราะมันเท่ากับเป็นการชักจูงให้ผู้อ่านคล้อยตามสิ่งในที่เราคิด ซึ่งไม่ใช่การนำเสนอที่เป็นความจริงหรือบอกความจริงไม่หมด

แต่งภาพได้แค่ไหน ?

          ข้อนี้เป็นคำถามต่อเนื่องที่เพิ่งจะเกิดขึ้นในยุคของการถ่ายภาพด้วยระบบดิจิตอล ซึ่งคำตอบก็เป็นไปในทำนองเดียวกันคือทำได้ในขอบเขตที่ไม่ผิดความเป็นจริง ซึ่งส่วนใหญ่คือการปรับขั้นพื้นฐานจำพวก ความคมชัด สีสัน คอนทราสต์นิด ๆ หน่อย ๆ เพื่อให้คุณภาพของภาพนั้น ๆ ดีขึ้น ส่วนการตกแต่งภาพในระดับรีทัชตัดต่อ ลบตรงโน้นทิ้ง เออะไรมาใส่เพิ่ม คงต้องพิจารณาเป็นภาพ ๆ เป็นกรณี ๆ ไป เพราะมันอาจทำได้ถ้ายังอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ไม่บิดเบือนความเป็นจริง ไม่ทำให้ผู้ชมผู้อ่านเข้าใจอะไรผิด

ความเป็นจริงของช่างภาพสารคดีชาวไทย

          นักถ่ายภาพที่สนใจการถ่ายภาพเชิงสารคดี ส่วนใหญ่น่าจะได้รับอิทธิพลมาจาก National Geographic บ้างไม่มากก็น้อย เห็นภาพสวย ๆ แล้วก็จึงอยากถ่ายภาพได้อย่างนั้นบ้าง บางคนเพียงแค่คิดแต่ไม่เคยลงมือจริงจัง แต่ก็มีอีกจำนวนไม่น้อยได้ทดลองเหยียบย่างลงไปบนทางสายนี้เพื่อที่จะพบกับความจริงข้อหนึ่งนอกเหนือไปจากปัญหาในแง่เทคนิคและวิธีการถ่ายภาพ

          ความจริงที่ว่า "ค่าตอบแทนมันช่างไม่คุ้มค่ากับการลงทุนเสียเลย" สารคดีบางเรื่อง ช่างภาพอาจใช้เวลาสั้นๆ กับการออกพื้นที่เพียงครั้งสองครั้งเพื่อให้ได้ภาพที่ครบสมบูรณ์ครอบคลุมเนื้อหาทั้งหมดได้ แต่กับสารคดี บางเรื่องอาจต้องใช้เวลาเป็นปี ๆ และการลงพื้นที่ซ้ำแล้วซ้ำอีก ทั้งอาจต้องการอุปกรณ์พิเศษสำหรับการถ่ายภาพ ที่ต้องลงทุนสูง เช่น การถ่ายภาพใต้น้ำ หรือการถ่ายภาพจากทางอากาศ

          ซึ่งถ้าต้นสังกัดของคุณมีเงินทุนมากพอในระดับใกล้เคียงกับ NG. เรื่องนี้ก็คงไม่ใช่ปัญหา หรือต่อให้เป็นช่างภาพอิสระ แต่ถ้าเรื่องผ่านการพิจารณาได้ลงตีพิมพ์ใน NG. (ฉบับภาษาอังกฤษ) ก็อาจคุ้มกับการลงทุน แต่ถ้าขอบเขตการทำงานของคุณถูกจำกัดเพียงแค่ภาษาไทย ประเทศที่ได้ชื่อว่ามีคนอ่านหนังสือน้อยติดลำดับต้นๆ ของโลกแล้วล่ะก็คงต้องคิดสะระตะให้ดีเสียก่อน หรือถ้าจะให้บอกอย่างตรงไปตรงมาอย่างไม่ต้องเกรงใจใครจริง ๆ ล่ะก็ "ไปขายเต้าฮวยดีกว่าครับ" เพราะมันยังเป็นอาชีพที่พอจะมองเห็นหนทางร่ำรวย หรืออย่างน้อยก็พอจะสร้างรายได้หาเลี้ยงชีพได้ดีกว่าง่ายกว่าการเป็นช่างภาพสารคดีอิสระชาวไทยอย่างแน่นอน

          ลองกวาดตาไปดูช่างภาพสารคดีชาวไทยให้ดี ๆ ที่ยังดำรงชีพอยู่ได้สบาย ๆ ก็คือช่างภาพที่มีสังกัดเท่านั้น หากเป็นช่างภาพอิสระแล้ว บอกได้เลยว่า ร้อยเก้าสิบเก้า อยู่ได้ด้วยงานอย่างอื่นหรือไม่ก็ต้องรับจ๊อบถ่ายภาพงานอย่างอื่น ๆ ช่วยประคองตัวไปเท่านั้น

ใช้กรอบเพื่อบีบสายตาสู่ซับเจ็ค

          ในการเดินทางแต่ละทริปสำหรับนักถ่ายภาพที่ไม่ใช่มืออาชีพคงจะไม่ได้แพลนล่วงหน้าว่าจะต้องถ่ายอะไรบ้าง ส่วนใหญ่แล้วก็เพียงแค่หาข้อมูลว่าสถานที่นั้นมีอะไรน่าสนใจ ที่เหลือก็ไปวัดกันภาคสนาม ซึ่งจริง ๆ แล้วไม่ใช่วิธีที่ถูกต้องของการถ่ายภาพสารคดีเลย เพราะเราควรจะหาข้อมูลรอบด้าน และต้องวางแผนว่าจะต้องถ่ายภาพอะไรบ้างเพื่อให้ได้ภาพครบพอที่จะใช้กับบทความเรื่องหนึ่ง หรือกับภาพชุด ๆ หนึ่ง หากมีปัญหาที่หน้างานจึงค่อยแก้ไขอีกที การจดจ่อมุ่งมั่นกับภาพที่สร้างไว้ในใจจะทำให้เราไม่พลาดสิ่งสำคัญของเรื่องราวที่จะบันทึก

          อย่างภาพเมืองซาปา เวียดนามเมื่อ 4 ปีก่อน ผู้ถ่ายเลือกมุมด้วยการใช้ฉากหน้าซึ่งเป็นรั้วไม้ไผ่เพื่อสร้างกรอบภาพในการบีบสายตาให้มุ่งไปที่เด็ก แต่การใช้ฉากหน้าลักษณะนี้ สิ่งที่ควรให้ความสำคัญคือขนาดของซับเจ็คต้องลงตัว เพราะหากใช้ที่ช่วงไวค์มากเกินไปซับเจ็คก็จะมีขนาดเล็กไปเด่นที่รั้วไม้ไผ่แทน อีกเรื่องคือระยะห่างระหว่างกล้องกับรั้ว เพราะมีผลต่อขนาดของช่อง ส่วนสำคัญต้องไม่ถูกรั้วไม่ไผ่บัง ต้องขยับกล้องจนได้มุมที่ดีก่อนจึงกดชัตเตอร์ ซึ่งกล้องคอมแพคจะให้ความคล่องตัวสูงกว่าและไม่เป็นจุดสนใจของเด็กทำให้ได้ภาพที่เป็นธรรมชาติกว่า

          นอกจากจะได้กรอบภาพเป็นฉากหน้าแล้ว สิ่งที่ได้มาด้วยคือความลึกของภาพ ภาพจะดูมีมิติกว่าการถ่ายโดยไม่มีฉากหน้า แต่ต้องระวังเรื่องการโฟกัสด้วยโดยต้องใช้โฟกัสแบบเฉพาะจุดกลาง หลีกเลี่ยงการใช้ระบบโฟกัสแบบพื้นที่กว้างเพราะกล้องอาจไปโฟกัสที่ไม่ไผ่ แทนที่จะเป็นเด็ก

เริ่มที่เรื่องใกล้ตัว

          งานถ่ายภาพสารคดี เป็นงานที่ต้องใช้เวลาในการเสาะหาความรู้ วางโครงเรื่องที่ต้องการนำเสนอ จินตนาการภาพประกอบว่าควรจะต้องมีภาพในมุมใดแบบใดบ้าง ยกเว้นในงานทางด้านสังคม วัฒนธรรมบางสถานการณ์ที่อาจจะต้องทำงานถ่ายภาพไปตามเงื่อนไขของเวลา ที่สำคัญการถ่ายภาพของนักถ่ายภาพสารคดีนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำงานภายใต้กรอบจริยธรรมของนักสื่อสารมวลชน

          นักถ่ายภาพหลายคนไม่รู้จะเริ่มต้นในการถ่ายภาพสารคดีอย่างไร และหลายคนที่ไร้จุดหมายก็มักเลิกล้มกับการถ่ายภาพสารคดีเสียง่าย ๆ ส่วนหนึ่งมาจากงานสารคดีเป็นงานที่ต้องใช้ทั้งแรงกาย และทุนทรัพย์ในการถ่ายทำ ซึ่งตรงกันข้ามกับค่าตอบแทนที่แสนต่ำ เพราะความต้องการของตลาดไม่กว้างเท่ากับการถ่ายภาพเชิงพาณิชย์อื่น ๆ นักถ่ายภาพสารคดีหลายคนต้องยอมควักทุนตัวเองเพื่อทำงาน สนองอุดมการณ์และความรักในการถ่ายภาพแนวนี้เท่านั้น

          เทคนิคง่าย ๆ อย่างหนึ่ในการทำงานถ่ายภาพงานสารคดีคือ สนใจเรื่องใกล้ตัว นักถ่ายภาพที่อาศัยอยู่ในต่างจังหวัดก็จะได้เปรียบเรื่องที่เกี่ยวกับธรรมชาติ วิถีชีวิตแบบดั้งเดิม ส่วนในกรุงเทพฯ หรือเมืองใหญ่ ๆ ก็อาจจะมีเรื่องทางสังคม ความแตกต่างเหลื่อมล้ำ เป็นต้น ลองมองสิ่งรอบข้างใกล้ตัว โดยเฉพาะเรื่องที่ดูเข้าใจง่ายและมีให้พบเห็นบ่อยครั้ง การกำหนดเรื่องรอบตัวสักเรื่องให้เป็นเป้าหมายในการถ่ายภาพจะเป็นการฝึกฝนที่ดี

          การถ่ายภาพสารคดีนั้นเรื่องของเทคนิคการถ่ายภาพอาจจะไม่ใช่ประเด็นสำคัญ กระบวนการคิดและมุมมองในการนำเสนอเรื่องนั้น ๆ ครบถ้วนรอบด้านหรือไม่ต่างหากคือหัวใจ งานสารคดีโดยส่วนใหญ่จะเป็นการนำเสนอภาพชุดที่สอดคล้อยกันในประเด็นที่ต้องการนำเสนอ เพราะฉะนั้นอย่าถ่ายภาพเฉพาะส่วนใดส่วนหนึ่ง เมื่อมีภาพในใจแล้วจึงใช้เทคนิคในการถ่ายภาพที่เหมาะสมถ่ายภาพอย่างที่ต้องการ 

เก็บเล็กผสมน้อย

          ภาพสารคดีมักผ่านการนำเสนอแบบชุดภาพ ในแต่ละภาพควรจะต้องสอดคล้องกันและนำเสนอประเด็นต่าง ๆ อย่างครบถ้วนหลากหลายตรงตามความต้องการของนักถ่ายภาพ การถ่ายภาพสารคดีให้ได้ภาพสักชุดหนึ่งนั้นอาจใช้เวลานานมาก การเดินทางไปในสถานที่ถ่ายภาพครั้งเดียวแล้วได้ครบตามที่ต้องการนั้นเป็นไปได้เลย อย่างน้อยก็ด้วยเงื่อนของเวลา เช่น ถ้าคุณอยากนำเสนอเรื่องราวธรรมชาติในรอบหนึ่งปี คุณก็จำเป็นต้องมีภาพให้ครบทุกฤดูกาลเป็นอย่างต่ำ ถึงจะเรียกได้ว่าครบรอบปี

          หลายคนคงทราบดีกว่าการถ่ายภาพสารคดีธรรมชาติเป็นงานที่ต้องลงทุนสูง ลำพังค่าเดินทางก็อาจทำเราท้อได้ง่าย ๆ สิ่งที่น่าจะเป็นทางออกที่ดีของนักถ่ายภาพที่สนใจอยากทำงานถ่ายภาพสารคดีก็คือ การถ่ายภาพแบบเก็บเล็กผสมน้อยไปเรื่อย ๆ การวางแผนถ่ายภาพเรื่องที่เราสนใจไว้ล่วงหน้า จะทำให้เรารู้ว่าจะต้องถ่ายภาพอะไรบ้าง เมื่อไหร่ ที่ไหน จากนั้นก็ลองเอาแผนการถ่ายภาพของเรานั้นประกอบเข้ากับกิจกรรมหรือการเดินทางอื่น ๆ ที่เรามี หากทำได้เช่นนี้บ่อย ๆ เข้า เดินทางไปไหนได้ภาพครั้งละภาพสองภาพ ไม่นานมันก็จะร้อยเรียงกันเป็นชุดภาพที่สอดคล้องเข้ากันได้

          การเก็บเล็กผสมน้อยแบบนี้แหละ จะทำให้คุณภาพได้ภาพชุดสารคดีที่ดี โดยไม่ต้องลงทุนมากเกินไปนัก และการได้ภาพด้วยความรู้สึกที่ไม่คาดหวังก็จะยิ่งเป็นกำลังใจ เป็นแรงผลักดันให้เราออกไปถ่ายภาพได้บ่อย ๆลองวางแผนการถ่ายภาพเรื่องที่คุณสนใจเสียแต่ตอนนี้ แล้วดูปฏิทินกำหนดการณ์เดินทางของคุณในรอบปีไว้ล่วงหน้ารับรองว่าคุณอาจได้ภาพติดไม้ติดมือกลับมาเสมอ


ที่มา : 
http://hilight.kapook.com/view/54017?view=full
  





ตัวอย่างสารคดีเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียง

ตัวอย่างสารคดีเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียง

         เศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญาชี้แนวทางการดำรงอยู่และปฏิบัติตนของประชาชนทุกระดับ ตั้งแต่ครอบครัว ระดับชุมชน จนถึงระดับรัฐ ในการพัฒนาและบริหารประเทศให้ดำเนินไปในทางสายกลาง โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อให้ก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัฒน์?

         ความพอเพียง หมายถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควรต่อการมีผลกระทบใด ๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายใน ทั้งนี้จะต้องอาศัยความรอบคอบและความระมัดระวังอย่างยิ่งในการนำวิชาการต่าง ๆ ?มาใช้ในการวางแผนและการดำเนินการทุกขั้นตอน ขณะเดียวกัน จะต้องเสริมสร้างพื้นฐานจิตใจของคนในชาติ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐ นักทฤษฎี และนักธุรกิจในทุกระดับให้มีสำนึกในคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต และให้มีความรอบรู้ที่เหมาะสม ดำเนินชีวิตด้วยความอดทน ความเพียร มีสติปัญญา และความรอบคอบเพื่อให้สมดุล และพร้อมต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและกว้างขวางทั้งด้านวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมจากโลกภายนอกได้เป็นอย่างดี?
        สมัยก่อน เกษตรกรจะทำการผลิตเพื่อการบริโภค โดยอาศัยธรรมชาติตามสภาพแวดล้อมที่มีการปลูกพืชหลากหลายชนิดคละกัน ทั้งพืชผัก ไม้ผล ไม้ยืนต้น พืชสมุนไพร พืชใช้สอย ในลักษณะสวนผสม พืชเหล่านี้ จะมีความสัมพันธ์ทางนิเวศวิทยาซึ่งกันและกัน มีความต้องการสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมกับการเจริญเติบโตแตกต่างกัน เกี่ยวกับแสงแดด อุณหภูมิ ความชื้นในดิน เป็นต้น เช่น พืชทรงพุ่มขนาดเล็กต้องการแสงน้อย อยู่ใต้พืชที่ทรงพุ่มใหญ่ การทำลายของโรคแมลงที่เกิดขึ้น ก็จะเป็นการควบคุมพืชบางชนิดให้มีปริมาณเหมาะสมในระบบนิเวศของพืช พืชที่ขึ้นปะปน หรือคละกัน ?มีคุณสมบัติ ช่วยยับยั้งการระบาดของโรคแมลงศัตรูพืชชนิดอื่นได้ ทำให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ ? ? ต่อมา มีการพัฒนาเป็นเกษตรเพื่อการบริโภคและจำหน่าย จนถึงปัจจุบัน เกษตรกรส่วนใหญ่ของประเทศมุ่งเพิ่มรายได้ จึงทำการเกษตรเพื่อจำหน่าย ทำให้ต้องใช้ทรัพยากรจากภายนอกมากขึ้น ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ประกอบกับเกิดวิกฤติเศรษฐกิจของประเทศ ทำให้ต้องหันกลับมาทำการเกษตรเพื่อบริโภคและจำหน่ายในลักษณะทางเศรษฐกิจพอเพียง อีกครั้ง?
       เศรษฐกิจพอเพียง อาจขยายความได้ว่า เป็นการดำเนินชีวิตหรือวิถีชีวิตของคนไทยให้อยู่อย่างพอประมาณ เดินทางสายกลาง มีความพอดี และพอเพียงกับตนเอง ครอบครัว และชุมชน โดยไม่ต้องพึ่งพาปัจจัยภายนอกต่าง ๆ ที่เราไม่ได้เป็นเจ้าของ สิ่งสำคัญต้องรู้จักพึ่งพาตนเองโดยไม่ทำให้้ผู้อื่นเดือดร้อน และรู้จักการนำทรัพยากรที่เรามีอยู่มาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการดำรงชีวิตประจำวัน เช่น รู้จักการนำปัจจัยพื้นฐานมาใช้ในการดำรงชีวิตอย่างมีความสุข ความสบายและพอเพียงกับตนเอง

เศรษฐกิจพอเพียงระดับเกษตรกร
การดำรงชีวิตในระบบเศรษฐกิจพอเพียง ตามแนวพระราชดำริ แบ่งได้ 2 ระดับ คือ
        หนึ่ง เศรษฐกิจพอเพียงระดับบุคคลทั่วไป เป็นความสามารถในการดำรงชีวิตอย่างไม่เดือดร้อน มีความเป็นอยู่อย่างพอประมาณตนตามฐานะตามอัตภาพและที่สำคัญไม่หลงใหลตามกระแสวัตถุนิยม มีอิสระในการประกอบอาชีพ เดินทางสายกลาง ทำกิจกรรมที่เหมาะสมกับตนเองและสามารถพึ่งพาตนเองได้
        สอง เศรษฐกิจพอเพียงระดับเกษตรกร เป็นเศรษฐกิจเพื่อการเกษตรที่เป็นการพึ่งพาตนเอง เกษตรกรจะใช้ความรู้ความสามารถในการบริหารจัดการที่ดิน โดยเฉพาะแหล่งน้ำ และกิจกรรมการเกษตรได้อย่างเหมาะสม สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ และความต้องการของเกษตรกรเอง ด้วยการนำทฤษฎีใหม่ ขั้นที่หนึ่ง : ฐานการผลิตความพอเพียงมาใช้ในไร่นาของตนเอง โดยเริ่มจากการผลิต จะต้องทำในลักษณะพึ่งพาอาศัยทรัพยากร
        ในไร่นาและทรัพยากรธรรมชาติเป็นส่วนใหญ่ ให้มีความหลากหลายของกิจกรรมการเกษตรในไร่นา มีกิจกรรมเกื้อกูลกัน กิจกรรมเสริมรายได้ใช้แรงงานในครอบครัว ทำงานอย่างเต็มที่ ลดต้นทุนการผลิต ตลอดจนการผสมผสานกิจกรรมการปลูกพืช เลี้ยงสัตว์และประมงในไร่นาให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ที่มา : http://www.oknation.net/blog/iizdeu/2011/07/10/entry-1

โปรแกรมทำสารคดี

Sony Vegas คืออะไร??
        Sony Vegas เป็นโปรแกรมสำหรับใช้ทำงานในด้านใด มีความสามารถด้านใดบ้าง จงยกตัวอย่าง
        Sony Vegas คือโปรแกรมที่ถูกพัฒนามาเพื่องานตัดต่อภาพยนตร์ และเสียง โดยในหนึ่งโปรแกรมนี้รองรับและสนับสนุนไฟล์รูปแบบไฟล์ จึงสามารถใช้งานร่วมกับโปรแกรมอื่นๆ ได้อย่างมากมาย และโปรแกรมให้ผลงานที่มีระดับสูงได้ เช่น วีดีโอระดับ Full HD หรือ เสียงระดับ HQ VBR Studio Audio ได้
     1.  ความสามารถของ Sony Vegas Pro 12
-ตัดต่อภาพยนตร์ หรือ สร้างวีดีโอจากภาพนิ่ง
-ตัดต่อเสียง หรือ แต่งเสียงเพลง ดนตรี
-มีเอฟเฟ็กต์ ให้เลือกใช้มากมาย
-มีฟังก์ชั่นให้เลือกอย่างมากมาย เช่น การปรับโทนสี ปรับโทนเสียง สร้างภาพเก่าๆ เป็นต้น
-รองรับการทำงานแบบ Layer สามารถซ้อนภาพและเสียงได้อย่างไม่จำกัด
-สร้างเสียงแบบระบบ 5.1 ได้
-โปรแกรมใช้งานได้รวดเร็ว ไม่กระตุก แม้สเปกคอมช้า
-สนับสนุนรูปแบบสื่อได้หลากหลาย เช่น VCD, SVCD, DVD, และสื่อวีดีโอสำหรับแสดงผลบนเว็บไซต์
-รองรับรูปแบบไฟล์อย่างหลากหลาย เช่น JPG, PSD, AVI, MOV  และอื่นๆ อีกมากมาย
 2. อธิบายองค์ประกอบหน้าตาโปรแกรม




1.Menu Bar คือ แถบเมนูสำหรับรวบรวมคำสั่งที่ใช้ในโปรแกรม
2.Tool Bar คือ แถบเครื่องมือที่ใช้ในการทำงานบ่อยๆ เช่น New ,  Open , Save , Cut , Copy เป็นต้น
3.Support Windows คือ หน้าต่างที่ใช้สำหรับรวบรวมฟังก์ชั่นต่างๆ ของโปรแกรม รวมถึง การเข้าถึงไฟล์ในเครื่องคอมพิวเตอร์ด้วย
4.Time line คือ ส่วนที่แสดงผลระยะเวลาในการทำงานของ Cursor
5.Layer คือ ส่วนที่ใช้สำหรับ ซ้อนวีดีโอ เสียง หรือวัตถุอื่นๆ โดยแยกเป็นชั้นๆ ไป
6.Preview Windows คือ หน้าต่างสำหรับแสดงผลวีดีโอที่เรากำลังดำเนินการตัดต่อ
7.Mixer คือ ส่วนที่ใช้สำหรับปรับระดับเสียงให้กับงาน
8.Control Bar คือ ส่วนที่ใช้สำหรับควบคุมการทำงานของโปรเจค เช่น เล่น หยุด พัก หรือ บันทึก เป็นต้น
9.Status Bar คือ แถบแสดงข้อมูลว่าเราสามารถเก็บข้อมูลได้อีกกี่นาที ในเครื่องของเรา

ที่มา : http://www.thaidesignidea.com/sony-vegas-%E0%B8%84%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%B0%E0%B9%84%E0%B8%A3.html





ขั้นตอนการทำรายการสารคดี

 ขั้นตอนการทำรายการสารคดี
             หลังจากที่ได้เตรียมงาน กำหนดเรื่อง กลุ่มผู้ชม ผู้ฟัง หัวข้อเรื่อง แกนของเรื่อง เนื้อหาประเด็น รวมทั้งชื่อเรื่องแล้ว จะมีขั้นตอนการทำดังนี้
       1. ตัดสินใจเกี่ยวกับหัวเรื่อง เช่นการบรรยายและเรื่องแทรกต้องติดต่อกันหรือไม่ สิ่งที่เพิ่มเติมในรายการ ส่วนประกอบที่ต้องใช้ ได้แก่ ผู้เขียนแบบบันทึกเสียง ผู้แปล การประกอบเสียง รูปแบบ การทำข่าว
       2. ศึกษาข้อมูลที่จำเป็นสำหรับการสัมภาษณ์ และเรื่องแทรกอื่นๆ ข้อเท็จจริง ผู้ให้คำแนะนำ ผู้ให้สัมภาษณ์ สถานที่
       3. พิจารณาผู้ช่วยเหลือ ที่จะช่วยเก็บข้อมูล หรือร่วมในรายการ
        4. บันทึกเรื่องประกอบ ทำเมื่อความคิดเกี่ยวกับโครงเรื่อง การติดต่อแน่นอนแล้ว ควรระวังเรื่องคุณภาพทางเทคนิคด้วย
        5. การตัดต่อเทปครั้งแรก ควรตัดส่วนที่ไม่แน่ใจว่าไม่ใช้ออก ตัดต่อให้มีลักษณะต่อเนื่องและอาจไม่ต้องเอาใจใส่ในเรื่องความผิดพลาดมากนัก แต่ต้อวอลงฟังดูหลายๆครั้งจนกระทั่งรู้สึกว่าแต่ละส่วนต่อเนื่องกันอย่างเหมาะสม และเกิดความคิดเกี่ยวกับคำบรรยาย นอกจากนั้นควรเตรียมพร้อมที่จะบันทึกเพื่อเติมในส่วนที่ขาดหายไป แล้วบันทึกส่วนย่อยที่จัดลำดับไว้เป็นที่น่าพอใจแล้วลงในเทป และเว้นที่ว่างของส่วนหัวเทปและปลายเทปให้มาก
        6. เตรียมเขียนบทที่ใช้ผลิตรายการ หลังจากตัดสินแน่ใจในส่วนประกอบต่างๆแล้ว ก็สามารถเขียนบทบรรยายจริงได้ การบันทึกสัญญาณเตือน ช่วงเวลา การเปลี่ยนความดังของเสียงเพลง และเสียงประกอบทั้งหลาย ต้องถูกต้องตามกำหนดเวลาและทำเครื่องหมายให้ชัดเจน นอกจากนั้นเริ่มรายการเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ควรเน้นสิ่งที่น่าสนใจ พยายามชี้ให้เห็นถึงส่วนหนึ่งน่าสนใจตลอดเวลา ซึ่งต้องระมัดระวังมากในการเขียนบท
        7. การบันทึกรวม เป็นการบันทึกส่วนต่างๆทั้งหมดทีเดียว ป้องกันตามแผนที่วางไว้ เพื่อให้รายการต่อเนื่อง มีความหลากหลาย น่าสนใจติดตามชมและฟัง เมื่อเสร็จควรตรวจสอบความกระชับของรายการและความต่อเนื่อง ซึ่งอาจปรับปรุงด้วยการตัดต่ออีกครั้ง

ที่มา : http://www.huso.kku.ac.th/thai/radio&television/homepage3/doc3_5.html







กรอบการวิเคราะห์

กรอบการวิเคราะห์
             การวิเคราะห์งานเขียนสารคดีชีวประวัติ ของหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช เรื่อง คนของโลก นั้นวิเคราะห์ส่วนประกอบต่างๆ ดังนี้

1. ประเภทของสารคดีชีวประวัติ
-ชีวประวัติแบบจำลองลักษณ์ (portrait)
-ชีวประวัติแบบสดุดีหรือชื่นชม
-ชีวประวัติแบบรอบวง (profile)
2. ส่วนนำเรื่อง
-ความนำแบบสรุปประเด็น
-ความนำประเภทพรรณนา หรืออธิบาย
-ความนำแบบกระทบความรู้สึก
-ความนำที่เป็นสุภาษิต คำกลอน หรือบทกวี
-ความนำประเภทคำถาม
-ความนำด้วยเรื่องเล่า หรือเหตุการณ์แปลกประหลาด
-ความนำประเภทบรรยาย
-ความนำที่เป็นข่าว
-ความนำแบบคุยกับผู้อ่าน
-ความนำประเภทหยอกล้อ
-ความนำที่ตรงกันข้าม
-ความนำที่อ้างถึงภูมิหลัง
3. การลำดับเรื่อง
-เสนอตามลำดับเวลา
-เสนอตามการจัดลำดับเหตุการณ์หรือประสบการณ์
-เสนอเนื้อหาโดยโครงสร้างประเด็น
-เสนอตามการจัดลำดับสถานที่
-เสนอตามการจัดลำดับตามความสัมพันธ์
4. การจบเรื่อง
-จบแบบสรุปความ
-จบแบบคาดไม่ถึง
-จบแบบคลี่คลายประเด็น
-จบแบบให้คิดต่อ

ที่มา : http://www.baanjomyut.com/library_2/extension-2/introduction_to_documentary/06.html








สารคดีชีวประวัติ

สารคดีชีวประวัติ
             สารคดีชีวประวัติ คือ การเขียนนำเสนอเรื่องราวชีวิตของคุคลในแง่มุมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นบุคลิกภาพ ความรู้ ความคิดเห็น ตลอดจนผลงานที่น่าสนใจ

1. ความหมายและลักษณะของสารคดีชีวประวัติ การเขียนสารคดีชีวประวัติ
คือ การเขียนนำเสนอเรื่องราวชีวิตของบุคคลในแง่มุมต่างๆ นักวิชาการได้อธิบายความหมายและลักษณะของสารคดีชีวประวัติไว้ต่างๆกันดังนี้

        พจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 (2546, หน้า 366) ได้ให้ความหมายของคำว่าชีวประวัติไว้ว่า ชีวประวัติ น. ประวัติบุคคล
        วนิดา บำรุงไทย (2545, หน้า 102) อธิบายว่า ชีวประวัติ คือ เรื่องราวชีวิตของบุคคลที่ผู้อื่นเป็นผู้เรียนเรียงขึ้น

        ชลอ รอดลอย (2551, หน้า 52) กล่าวว่า สารคดีชีวประวัติ (biography) เป็นงานประพันธ์ที่มีรูปแบบของประวัติศาสตร์ประยุกต์ แต่ไม่เกี่ยวข้องกับเผ่าพันธุ์ของมนุษย์ กล่าวถึงเฉพาะบุคคลหนึ่ง เมื่อบุคคลเขียนถึงตนเองผลงานที่เขียนเรียกว่าอัตชีวประวัติ

        ธัญญา สังขพันธานนท์ (2548, หน้า124) กล่าวว่า สารคดีแบบชีวประวัติ เป็นเรื่องที่ผู้แต่งเขียนถึงประวัติของบุคคลใดบุคคลหนึ่งที่เห็นว่าน่าสนใจ

        ปราณี สุรสิทธิ์ (2541, หน้า 343) อธิบายว่า สารคดีบุคคล คือเรื่องเกี่ยวกับบุคคลที่น่าสนใจ ถ้าผู้เขียน เขียนถึงประวัติของตนเองเรียกว่า อัตชีวประวัติ ถ้าเขียนถึงประวัติของผู้อื่น เรียกว่า ชีวประวัติ ซึ่งอาจเป็นจุดเด่นของบุคคลนั้น หรือทัศนะในการดำรงชีวิต หรืออุดมการณ์ในการทำงาน

จากคำจำกัดความข้างต้นสามารถสรุปความหมายและลักษณะของสารคดีชีวประวัติได้ว่า สารคดีชีวประวัติ (biography) คือการเขียนนำเสนอประวัติของบุคคล ซึ่งอาจเป็นพฤติกรรม ความรู้ ความคิดเห็น ผลงาน หรือเรื่องราวต่างๆ ที่น่าสนใจ เพื่อนำมาศึกษาในแง่มุมต่างๆ โดยสารคดีชีวประวัตินั้นมีลักษณะเด่นคือเป็นการเขียนประวัติโดยที่เจ้าของประวัตินั้นไม่ได้เป็นผู้เขียนขึ้นเอง แต่มีผู้อื่นเป็นคนเขียนขึ้น

2. ประเภทของสารคดีชีวประวัติ สารคดีชีวประวัติแบ่งออกเป็น 3 ประเภท (สารคดี, 2553, ย่อหน้า 6) ดังนี้
       ชีวประวัติแบบจำลองลักษณ์ (portrait) เป็นการเขียนแบบถ่ายภาพให้เหมือนตัวจริงของเจ้าของประวัติ การเขียนจึงเป็นการอธิบายรูปร่าง ความคิด รสนิยม และอุปนิสัยอย่างตรงไปตรงมา
       ชีวประวัติแบบสดุดีหรือชื่นชม (appreciation) มุงเน้นการเขียนชีวประวัติบุคคลแบบสรรเสริญ จึงเน้นด้านความสำเร็จ
        ชีวประวัติแบบรอบวง (profile) เป็นการเขียนโดยให้ผู้อ่านเห็นความสำคัญของชีวประวัติเพียงด้านใดด้านหนึ่งโดยเฉพาะ
3. กลวิธี และแนวทางการเขียนสารคดีชีวประวัติ การเขียนสารคดีชีวประวัติให้ได้ดีนั้นมีกลวิธี และแนวทางการเขียน (ชลอ รอดลอย, 2551, หน้า 57; ธัญญา สังขพันธานนท์, 2548, หน้า 126) ดังนี้
        การเขียนสารคดีชีวประวัติต้องกำหนดแนวคิดให้ชัดเจนว่าบุคคลที่เลือกเขียนนั้นมีความน่าสนใจด้านใด เช่น บุคคลที่เป็นแบบอย่างในการดำรงชีวิต ทั้งที่เป็นแบบอย่างที่ดี และไม่ดี
        การเขียนสารคดีชีวประวัตินั้นต้องกำหนดจุดเน้นว่าต้องการเน้น หรือนำเสนอในเรื่องใด ไม่มุ่งที่จะบอกเพียงแต่ว่าเขาเป็นใคร แต่มุ่งชี้ให้เห็นว่าเขาเป็นอย่างไร และทำไมถึงเป็นอย่างนั้น
        การเขียนสารคดีนั้นต้องเขียนเฉพาะเรื่องของบุคคลจริง ไม่ใช่เรื่องสมมุติ
        การเก็บข้อมูลต้องเก็บข้อมูลให้ละเอียดรอบด้าน ทั้งการสัมภาษณ์ และเอกสาร
        การเขียนสารคดีชีวประวัตินั้นต้องเขียนด้วยความบริสุทธิ์ใจ ไม่อคติ และไม่ปรุงแต่งสำนวน เนื้อหาให้วิเศษเกินจริงหรือเกินงาม
        การเขียนสารคดีชีวประวัติให้ดีนั้น ควรศึกษา รูปแบบของสารคดี แนวทางในการเขียน และกลวิธีในการเขียนให้ชัดเจน


ที่มา : http://www.baanjomyut.com/library_2/extension-2/introduction_to_documentary/05.html






องค์ประกอบของสารคดี

องค์ประกอบของสารคดี
การเขียนสารคดีนั้นประกอบไปด้วยส่วนต่างๆดังนี้

        1. ส่วนนำเรื่อง ในการเขียนส่วนนำเรื่อง หรือความนำนั้นสามารถเขียนได้หลายแบบ (มาลี บุญศิริพันธิ์, 2535, หน้า 42; วนิดา บำรุงไทย, 2545, หน้า 44) ดังนี้
             ความนำแบบสรุปประเด็น คือ การสรุปสาระสำคัญทั้งหมด โดยมีหลักการทั่วไปมักประกอบด้วยคำหลัก คือ ใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไร ทำไม และอย่างไร
             ความนำประเภทพรรณนา หรืออธิบาย คือ การพรรณนาถึงสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้มองเห็นคุณลักษณะของสิ่งนั้นๆให้ชัดเจนยิ่งขึ้น อาจเป็นสถานที่ บุคคล หรือวัสดุสิ่งของที่มีความเกี่ยวข้องต่อประเด็นเรื่องที่เขียน
             ความนำแบบกระทบความรู้สึก คือ การใช้โวหาร เนื้อความที่เร้าอารมณ์ หรือภาษาที่รุนแรงกระทบความรู้สึกของผู้อ่านทันที ทำให้ผู้อ่านสามารถสร้างความรู้สึกบางอย่างต่อเหตุการณ์นั้นๆ
             ความนำที่เป็นสุภาษิต คำกลอน หรือบทกวี คือ การยกเอาคำกลอน สุภาษิต หรือบทกวีที่มีเนื้อความเข้ากันมาขึ้นต้น แทนการอธิบายหรือพรรณนา
             ความนำประเภทคำถาม คือ การตั้งคำถามหรือประเด็นปัญหาอย่างใดอย่างหนึ่ง ควรมีลักษณะกระชับ และประเด็นที่เด่นชัด
              ความนำด้วยเรื่องเล่า หรือเหตุการณ์ คือ การนำเรื่องด้วยเรื่องเล่าสั้นๆอาจเป็นเกร็ดที่เกี่ยวข้องกับเรื่อง หรือการนำเหตุการณ์ เรื่องราวมาเกริ่นนำ
              ความนำประเภทบรรยาย คือ การให้รายละเอียดของเหตุการณ์ โดยการบรรยายแต่ละฉากอย่างละเอียดตามด้วยการแสดงความต่อเนื่องของเหตุการณ์
              ความนำที่เป็นข่าว คือ การใช้ข่าว หรือเรื่องราวที่เกิดขึ้นเป็นการนำเรื่อง
             ความนำแบบคุยกับผู้อ่านโดยตรง คือ การที่ผู้เขียนใช้สรรพนามแทนตัวเองกับผู้อ่าน นิยมใช้คำว่า ผม” “คุณ
             ความนำประเภทหยอกล้อ คือ ความนำที่เขียนโดยไม่เจตนาให้ผู้อ่านทราบเรื่องราวในทันที มีลักษณะผ่อนคลาย ยั่วเย้าใครบางคน ใช้ภาษาเบาๆไม่เคร่งเครียด
             ความนำที่ตรงกันข้าม คือ การนำด้วยเหตุการณ์ บุคคล หรือสถานที่ที่ตรงกันข้ามกับสาระ หรือประเด็นของเรื่อง
             ความนำที่อ้างถึงภูมิหลัง คือ การนำเรื่องด้วยความเดิมหรือประวัติความเป็นมาของเรื่อง
        2. เนื้อเรื่อง คือ การลำดับเหตุการณ์ เรื่องราวต่างๆในลักษณะ (วนิดา บำรุงไทย, 2545, หน้า 106; สุภิตร อนุศาสน์, ทัศนีย์ กระต่ายอินทร์, และมานิตา ศรีสาคร, 2552, หน้า 5) ดังนี้
             เสนอตามลำดับเวลา คือ ลำดับไปตามอายุ หรือการเผชิญเหตุการณ์เรื่องราวต่างๆของเจ้าของประวัติ
             เสนอตามการลำดับเหตุการณ์หรือประสบการณ์ คือ การจัดเหตุการณ์หรือเรื่องราวที่สำคัญ หรือน่าสนใจมาขึ้นต้นก่อน หรืออาจจัดเป็นกลุ่มประสบการณ์ เหมาะที่จะเขียนเล่าเรื่องหรืออธิบายเรื่องประเภทให้ความรู้
             เสนอเนื้อหาโดยโครงสร้างประเด็น การลำดับเนื้อหาแบบนี้มักใช้กับเนื้อเรื่องที่มีการแสดงเหตุผลหรือเสนอความคิดเห็น อาจเรียกอีกอย่างว่าเป็นการเสนอโดยจัดประเด็นหรือกำหนดกลุ่มเรื่อง กลุ่มความคิด
             เสนอตามการจัดลำดับสถานที่ คือการจัดระเบียบความคิดโดยลำดับตามสถานที่ ผู้เขียนจะเขียนลำดับจากตำแหน่งหนึ่งไปสู่ตำแหน่งอื่นๆ
             เสนอตามการจัดลำดับความสัมพันธ์ คือ การจัดลำดับความคิดตามขั้นตอนที่เชื่อมโยงเป็นเหตุเป็นผลกัน
        3. ส่วนท้าย ส่วนท้ายหรือความจบนั้นผู้เขียนสามารถเลือกเขียนได้หลายแบบ (มาลี บุญศิริพันธิ์, 2535, หน้า 42; วนิดา บำรุงไทย, 2545, หน้า 44) ดังนี้
             จบแบบสรุปความ คือ การจบด้วยการสรุปประเด็นสำคัญอีกครั้งโดยโยงถึงความนำในตอนต้นด้วย
             จบแบบคาดไม่ถึง คือ การจบอย่างพลิกความคาดหมาย มักนิยมใช้ในสารคดีเชิงข่าว หรือสารคดีประเภทอารมณ์
             จบแบบคลี่คลายประเด็น คือการจบโดยทำให้ประเด็นนั้นกระจ่างชัดเจน ผู้อ่านไม่มีข้อเคลือบแคลงสงสัย
             จบแบบให้คิดต่อ คือ การจบแบบเน้นประเด็นสำคัญของเรื่อง โดยทิ้งปริศนาให้ผู้อ่านขบคิด
สารคดีมีส่วนประกอบ 3 ส่วน คือ
-ส่วนนำเรื่อง
-เนื้อหา
-ส่วนท้าย
             ในการเขียนผู้เขียนสามารถเลือกใช้วิธีการนำเรื่อง การลำดับเนื้อเรื่อง และการจบเรื่องได้หลายแบบตามความเหมาะสม


ที่มา : http://www.baanjomyut.com/library_2/extension-2/introduction_to_documentary/04.html