วันเสาร์ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2558

นโยบายการแก้ปัญหาสุนัขจรจัด

นโยบายการแก้ปัญหาสุนัขจรจัด
         คนไทยแก้ปัญหาโดยการจับรถที่ขนหมาไปขายข้ามแดน จะจับได้สักกี่คันเอง จับแล้วก็เอาไปขังรวมกัน รณรงค์ให้คนไทยใจบุญรักสัตว์ สงสารหมาส่งเงินไปช่วย เงินไปถึงหมาเท่าไรก็ไม่รู้ คนอาจเอาไปกินก่อนหมา สุดท้ายหมาก็อดตาย เป็นโรคตาย กัดกันตาย โหดร้ายไม่น้อยกว่าการถูกจับไปขาย
          คนไทยทั่วไปในชนบทกินเนื้อหมา แต่ไม่ได้กินเป็นประจำ กินโอกาสพิเศษ กินแกล้มเหล้ากับเพื่อนฝูง กินยามมีงานพบปะสังสรรค์ กินเพราะอยากลองรสชาติแปลกใหม่เป็นครั้งคราว หรือบางแห่งบางที่ คนกินเพราะเนื้อหมาราคาถูกกว่าเนื้ออื่นๆ เป็นอาหารคนจนในหลายท้องถิ่น หลายจังหวัด
          คนไทยคงไม่กล้าออกกฏหมายให้มีการทำธุรกิจเนื้อหมาเหมือนเกาหลี หรือให้กินกันเปิดเผยอย่างในหลายเมืองของจีน หรือทั่วไปในเวียดนาม แต่สังคมไทยก็ไม่มีการจัดการเรื่องหมาอย่างเป็นเรื่องเป็นราวสักที เอาแต่แก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ซึ่งก็แก้ไขอะไรไม่ได้
          สิ่งที่รัฐบาลควรทำในเบื้องต้น คือ การวิจัยอย่างละเอียดเพื่อพัฒนานโยบายและแนวทางปฏิบัติเพื่อจัดการกับปัญหาหมาที่คนไม่มีปัญญาแก้มานาน สั่งสม หมักหมมจนเหมือนไม่มีทางออก (มีสถาบัน อุดมศึกษาตั้ง 170 แห่ง น่าจะทำการทำวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมในเรื่องนี้ได้ในทุกจังหวัด)
ที่พูดกันมานานก็เรื่องปัญหาหมาจรจัดในกทม. พยายามแก้กันมาไม่รู้กี่ผู้ว่าฯ เลือกตั้งทีก็มีการหาเสียงทีว่าจะทำอย่างไรกับหมาจรจัดที่มีอยู่หลายแสน ซึ่งแค่จำนวนก็ยังไม่ทราบ มีแต่คาดการณ์เองว่าสามแสนบ้าง สี่แสนบ้าง บางคนบอกว่าอาจถึง 1 ล้านตัว
มีอย่างน้อย 2 มาตรการที่น่าจะทำได้เลย โดยรัฐบาลสั่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ
๑.     แก้ปัญหาหมาจรจัด ด้วยการทำหมัน ด้วยมาตรการให้รางวัลและลงโทษ ให้ทุกจังหวัดพัฒนา
แนวทางดำเนินการอย่างจริงจัง ให้ทุกอำเภอ เทศบาล ตำบล ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่เป็นไฟไหม้ฟางอย่างที่ทำๆ กันในหลายเรื่อง หรือทำแบบขอไปทีอย่างทุกวันนี้
๒.    แก้ปัญหาหมาวัดที่ไม่ได้อยู่ในวัดเท่านั้น แต่ออกไปเพ่นพ่านนอกวัด เพิ่มจำนวนหมาในชุมชน
อย่างรวดเร็ว ออกมาตรการห้ามเอาหมาไปทิ้งที่วัด และห้ามวัดรับเลี้ยงหมา
          มาตรการอื่นๆ คงต้องวิจัยกันให้ละเอียด ไม่ว่าการขึ้นทะเบียนหมา เก็บภาษีหมา การฝังชิพ รวมทั้งการออกฏหมายควบคุมการค้าหมา การนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งมีมากขึ้นและขายกันไม่แต่ที่สวนจตุจักร แต่เป็นฟาร์มเล็กฟาร์มใหญ่ทั่วประเทศ ผสมพันธุ์กับหมาจรจัดเกิดเป็นพันธุ์โรด (พันธุ์ทาง) ทำให้มีหมาหน้าตาแปลกๆ มากขึ้น
          การแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ แก้ปัญหาอย่างยั่งยืน คงต้องใช้เวลาและต้องใช้พลังชุมชนร่วมมือ จึงต้องมีการรณรงค์กันอย่างจริงจัง องค์กรรักสัตว์ทั้งหลาย รวมทั้งเครือข่ายคนรักหมาน่าจะคิดทำอะไรให้เป็นเรื่องเป็นราว ไม่เอาแต่ประท้วงเมื่อมีข่าวหรือเหตุการณ์เกี่ยวกับหมา
          สังคมวันนี้เปลี่ยนไปแล้ว แต่คนยังเลี้ยงหมาเหมือนสังคมโบราณ ไม่แต่ในหมู่บ้านชนบท แต่ในเมืองเล็กเมืองใหญ่จนถึงกรุงเทพฯ วัฒนธรรมเลี้ยงหมายังไม่เปลี่ยน  หมาจรจัดจำนวนมากอยู่ได้เพราะมีคนเลี้ยง พวกมันจะจับกลุ่มกันอยู่ในที่ที่มีอาหาร มีก๊กมีแก๊งค์ ในหมู่บ้านจัดสรรหลายแห่ง อบต. เทศบาลไปจับหมาจรจัดไม่หมดสักที เพราะมีคนคอยให้อาหารและปกป้องมัน
          หมาไทยเป็นสัตว์ที่อยู่คู่กับคนไทยมานาน ทำประโยชน์ได้หลายอย่าง วันนี้ขาดการจัดการ ไม่มีการปรับการเลี้ยง การจัดการ เรื่องหมาให้เหมาะสมกับยุคสมัย
          เรื่องนี้ใหญ่เกินกว่าที่ชาวบ้านและชุมชนทั่วไปจะจัดการได้แต่เพียงผู้เดียว ต้องมีเจตจำนงทางการเมือง เพราะเป็นเรื่องระดับชาติที่ต้องการนโยบายที่ชัดเจน โดยไม่ต้องรอให้โรคหมาบ้าระบาดจนควบคุมไม่ได้

ที่มา : http://www.phongphit.com/2013/index.php/2012-12-06-11-48-33/item/497-%E0%B8%9B%E0%B8%B1%E0%B8%8D%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B8%B2-%E0%B8%9B%E0%B8%B1%E0%B8%8D%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B9%82%E0%B8%A2%E0%B8%9A%E0%B8%B2%E0%B8%A2





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น